วันพุธที่ 11 กันยายน 2567 นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย นายธันวา ผุดผ่อง ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 ข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการร้อยใจรักษ์ระดับพื้นที่ ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในการประชุมฯ พร้อมด้วย พล.อ.อ.สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา นายนิรัตน์ พงศ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วน
โครงการร้อยใจรักษ์ เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่หมู่บ้านห้วยส้าน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ. เชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดอย่างรุนแรง มีปัจจัยจากปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และอิทธิพลของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด หลังจากที่หน่วยงานภาครัฐเข้าทลายเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่ นายเล่าต๋า แสนลี่ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้เข้าไปดำเนินงานในพื้นที่บ้านห้วยส้านอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2560 โดยใช้ "หลักการพัฒนาทางเลือกศาสตร์พระราชา ตำราแม่ฟ้าหลวง" เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย 3 หมู่บ้าน 20 หย่อมบ้าน ให้หลุดพ้นจากวงจรยาเสพติด
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โครงการร้อยใจรักษ์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ครอบคลุมเกษตรกรกว่า 1,159 ครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประชากรกว่า 4,297 ราย โดยสนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจ พัฒนาระบบชลประทาน ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิต และสร้างตลาดชุมชน ส่งผลให้คนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 61,293 บาทต่อคนต่อปี สูงกว่าเกณฑ์ความยากจนของจังหวัดเชียงใหม่ คิดเป็นรายได้รวมกว่า 63.2 ล้านบาท นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระหนี้สินครัวเรือนได้ถึงร้อยละ 7 ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด โครงการฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดได้ 7 คดี ผู้ต้องหา 8 ราย ยาบ้า 420 เม็ด รวมถึงการนำผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดแบบสมัครใจ จำนวน 22 ราย ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จนปัจจุบันมีหมู่บ้านปลอดยาเสพติดโครงการร้อยใจรักษ์แล้ว 4 หมู่บ้าน 20 หย่อมบ้าน โดยใช้กฎชุมชนตามแนวทาง Rules of law ความสำเร็จของโครงการร้อยใจรักษ์ ถือเป็นต้นแบบสำคัญของการแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงพื้นที่ ที่สามารถบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การแก้ปัญหาแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน