ปปส. ภาค 5 ฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดิน พื้นที่ภาคเหนือตอนบน (ครู ข.) เสริมสร้างความเข้มแข็งหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยพลังชุมชน

เมื่อวันที่ : 6 มี.ค. 2568 09:56
หน่วยงาน : สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5
25 ครั้ง

ปปส. ภาค 5 ฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดิน พื้นที่ภาคเหนือตอนบน (ครู ข.) เสริมสร้างความเข้มแข็งหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยพลังชุมชน

 

เมื่อวันที่ 3 - 5 มีนาคม 2568 สำนักงาน ปปส. ภาค 5 ได้จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดินพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (ครู ข.) ประจำปี 2568 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ โดยในวันที่ 3 มีนาคม 2568 นายธันวา ผุดผ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 ได้มอบหมายให้ นางสาวสุกันยา ใหญ่วงศ์ ผู้อำนวยการส่วนประสานพื้นที่ สำนักงาน ปปส. ภาค 5 เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมฯ และมีพัฒนาชุมชนจังหวัด เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เจ้าหน้าที่สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด และสมาชิกกองทุนแม่ของแผ่นดิน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เข้าร่วมกว่า 160 คน

โครงการดังกล่าว จัดขึ้นตามแผนปฏิบัติการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2568 - 2570) ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อฟื้นฟู เสริมสร้าง และพัฒนาความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน ตลอดจนบูรณาการต่อยอดการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน  ซึ่งระยะแรกเป็นการเตรียมการวิทยากรกระบวนการกองทุนแม่ของแผ่นดินระดับต่าง ๆ ตั้งแต่วิทยากรหลัก วิทยากรระดับภาค และวิทยากรระดับจังหวัด โดยการฝึกอบรมในครั้งนี้เป็นการสร้างทีมวิทยากรระดับภาค (ครู ข) เพื่อนำองค์ความรู้ไปเผยแพร่และสร้างทีมวิทยากรระดับจังหวัด (ครู ค) โดยมุ่งหวังว่าวิทยากรระดับต่างๆ จะสามารถเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนงานกองทุนแม่ของแผ่นดินให้เกิดการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง และเชื่อมโยงการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดินในการช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินจำนวน 533 หมู่บ้านในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่ปรากฏข้อมูลผู้เสพ/ผู้ค้ายาเสพติดในหมู่บ้าน จากผลการสำรวจสภาพปัญหายาเสพติดในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน รอบที่ 2 ปีงบประมาณพ.ศ. 2567 โดย กระทรวงมหาดไทย

ปัจจุบันพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีหมู่บ้านได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน รวมทั้งสิ้น 3,097 หมู่บ้าน และในปีพ.ศ. 2568 มีหมู่บ้านแจ้งความประสงค์รับการประเมินเป็นหมู่บ้านต้นกล้ากองทุนแม่ของแผ่นดินเพิ่มอีก 148 หมู่บ้าน ซึ่งตลอดระยะเวลาของการขับเคลื่อนงานได้มีการพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยพลังชุมชน สู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

YouTube TikTok search download
Q&A FAQ