วันจันทร์ที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายไกรเลิศ ดาวเรือง ผอ.ปปส.ภ.๕ เป็นประธานเปิดการประชุมปฏิบัติการประเมินสถานการณ์ยาเสพติดและวางแนวปฏิบัติพื้นที่โครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดฯชายแดนภาคเหนือด้านการบำบัดรักษายาเสพติด พื้นที่จังหวัดพะเยา ด้วยระบบ Avaya Online Conferece ณ จุดที่ตั้งการประชุม ห้องประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดพะเยา บก.ร้อย อส.จังหวัดพะเยา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทน ศอ.ปส.จ. ผู้แทนสาธารณสุข ผู้แทนสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เจ้าหน้าที่ประสานงานการพัฒนาทางเลือก รวมจำนวน ๕๙ ท่าน ครอบคลุม ๓๐ จุดรับสัญญาณ ในพื้นที่ ๕ หมู่บ้าน ๒ อำเภอเป้าหมายอำเภอภูซาง,อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว มีประเด็นสำคัญดังนี้
(๑)ศอ.ปส.จ.พะเยา และ สสจ.พะเยา ประเมินสถานการณ์ปัญหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ทั้ง ๕ หมู่บ้านตามโครงการ จังหวัดพะเยา พบว่า สถานการณ์ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดค่อนเบาบาง ทั้ง ๕ หมู่บ้านมีผู้เสพประมาณ ๕ ราย จากภาพรวมของทั้ง ๒ อำเภอ พบเป็นการเสพยาบ้า มีผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวช ๑ ราย ไม่มีสถานการณ์เรื่องเฮโรอีน แต่มีรายงานการตรวจพบการลักลอบนำเข้าฝิ่นและการปลูกกัญชา แนวโน้มสถานการณ์การลักลอบนำเข้ายาเสพติดในพื้นที่ไม่มี แต่การบำบัดรักษาใช้โรงพยาบาลเชียงคำเป็นศูนย์กลางในการบำบัดรักษาฯ
(๒) แลกเปลี่ยนร่วมกับ โรงพยาบาลแม่อาย พื้นที่ตัวอย่างในการบำบัดรักษา โครงการอาสาทำดี ภายใต้โครงการร้อยใจรักษ์ และหารือเรื่องแนวทางการบำบัดรักษาตามประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ซึ่งในพื้นที่จะมุ่งเน้นการบำบัดในรูปแบบ CBTx และโครงการอาสาทำดี ภายใต้โครงการร้อยใจรักษ์ เป็นต้นแบบ
(๓)จากการประเมินพบว่าในพื้นที่ยังไม่มีหมู่บ้านที่เป็นจุดบริการที่สามารถเป็นต้นแบบในการบำบัดรักษาได้ เนื่องจากสถานการณ์ผู้เสพผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่เบาบาง โรงพยาบาลอำเภอทั้ง ๒ อำเภอ สามารถรับผิดชอบได้ครอบคลุมเพียงพอ ทั้งนี้จุดเน้นสำคัญในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ จะได้มุ่งเน้นการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษา การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตตามแนวทางโครงการร้อยใจรักษ์ การเชื่อมโยงกับงานป้องกัน โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้กลุ่มเยาวชนชนเผ่าในพื้นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการลำเลียง โดยมีหมู่บ้านประชาภักดี(ชนเผ่าม้ง) อำเภอเชียงคำ เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินงาน
(๔)เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนให้เกิดการต่อเนื่อง สำนักงาน ปปส.ภ.๕ หารือขอให้ทุกพื้นที่ประเมินความพร้อม การใช้แนวทางโครงการอาสาทำดี เป็นต้นแบบในการทำงาน ร่วมกับการติดตามต่อเนื่อง ๓ ปี หรือ ๑,๐๐๐ วัน และได้วางแนวทางการลงพื้นที่รายอำเภอเพื่อทำความเข้าใจและร่วมเสนอแนะในการทำงานรายพื้นที่ต่อไป